ข้อแนะนำการแก้ไขเครื่องชิลเลอร์หลังน้ำท่วม

ข้อแนะนำการแก้ไข เครื่องชิลเลอร์หลังน้ำท่วม

อุทกภัยมีความรุนแรงและส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ส่งผลให้โรงงานต่างๆ ห้างสรรพสินค้า และอาคารขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง ทั้งนี้หลายๆ ที่จึงประสบปัญหาความเสียหายในส่วนของระบบเครื่องจักร รวมถึงระบบผลิตน้ำเย็น (Chiller) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลของเทรน (ประเทศไทย)

ทาง TRANE ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครื่องปรับอากาศจึงเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือ และแนะนำผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวได้ทราบขั้นตอนและวิธีการแก้ไขปัญหาเครื่องชิลเลอร์เบื้องต้น เพื่อบรรเทาไม่ให้อุปกรณ์เสียหายมากขึ้น และสามารถแก้ไขซ่อมแซมได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้อาคารและโรงงานของท่านเปิดดำเนินการได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เราจึงได้ทำคู่มือและเป็นข้อแนะนำการแก้ไขเครื่องชิลเลอร์หลังน้ำท่วมนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้

• เครื่องชิลเลอร์ รุ่น Water Cooled CenTraVac CVHE/G และ CDHE/G

เครื่องชิลเลอร์ที่ใช้น้ำยาสารทำความเย็น R-123 ซึ่งถือว่าเป็นสารทำความเย็นที่เป็น low pressure ที่อาจมีความดันต่ำกว่าบรรยากาศได้ เช่น เครื่องชิลเลอร์โมเดล CVHE, CVHG, CDHE หรือ CDHG โดยปกติถ้าไม่มีการเดินเครื่องชิลเลอร์ ความดันในระบบทั้งฝั่ง low side และฝั่ง high side จะมีความดันมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำที่ท่วมอยู่ 

โดยปกติแล้วอุณหภูมิของน้ำจะอยู่ในช่วง 25-30° C ขึ้นอยู่กับช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ถ้าอุณหภูมิอยู่ที่ 25° C ความดันในระบบทั้งฝั่ง low side และ high side จะมีค่าติดลบอยู่ที่ประมาณ -2 psig จึงมีโอกาสที่น้ำจะซึมเข้าเครื่องชิลเลอร์ได้

ถ้าหากเครื่องชิลเลอร์มีการรั่วซึมอยู่ ถ้าน้ำท่วมถึงตำแหน่งที่มีประเก็นหรือเซอร์วิสวาล์ว แนะนำให้ทำการให้ทำการถ่ายน้ำยาออก ตรวจหารอยรั่วพร้อมแวคคั่มระบบใหม่ ระบบไฟฟ้า เช่น ตู้ Starter, ตู้ Control, สายไฟ และสาย Sensor ที่ท่วมน้ำ ต้องทำความสะอาดใหม่ อบให้แห้ง และต้องเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ พร้อมตรวจเช็คเรื่องความปลอดภัยและทำการเดินเครื่องใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น 

ส่วนใหญ่แล้วเครื่องชิลเลอร์โมเดลนี้จะเป็นแบบ Remote Starter คือ แยกตู้ Starter ออกจากตัวเครื่องชิลเลอร์ โดยมักจะตั้งตู้ Starter ไว้ที่พื้น ดังนั้นโอกาสที่น้ำจะท่วมตู้ Starter ก็มีโอกาสมากขึ้นด้วย

• เครื่องชิลเลอร์ รุ่น Water Cooled Series R RTHC/D

เครื่องชิลเลอร์ที่ใช้น้ำยาสารทำความเย็นที่เป็นพวก medium หรือ high pressure ที่ระบายความร้อนด้วยน้ำ เช่น เครื่องชิลเลอร์โมเดล RTHD, RTWD, RTWA, RTWB, RTHC จะมีความดันในระบบสูงกว่าบรรยากาศอยู่แล้ว ดังนั้นจึงแทบไม่มีโอกาสที่น้ำจะรั่วเข้าระบบน้ำยาของเครื่องชิลเลอร์ได้ 

สิ่งที่ต้องซ่อมแซม คือพวกระบบไฟฟ้า เช่น ตู้ Starter และ Control สายไฟ และสาย Sensor ต่างๆ ที่จมน้ำ จำเป็นต้องเปลี่ยนและซ่อมแซมเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วเครื่องชิลเลอร์โมเดลนี้จะเป็นแบบ Unit Mount Starter คือ ตู้ Starter จะติดยู่กับตัวเครื่องชิลเลอร์ และสูงจากพื้นประมาณ 50 ซม. ดังนั้นโอกาสที่น้ำจะท่วมตู้ Starter ก็จะมีโอกาสน้อยลง

เครื่องชิลเลอร์ รุ่น Air Cooled Series R RTAC/D

เครื่องชิลเลอร์ที่ใช้สารทำความเย็นจำพวก medium หรือ high pressure ที่ระบายความร้อนด้วยอากาศ เช่น เครื่องชิลเลอร์โมเดล RTAA, RTAB, RTAC, RTAD หรือเครื่องชิลเลอร์ขนาดเล็ก เช่น CGAH จะมีความดันในระบบสูงกว่าบรรยากาศอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงแทบไม่มีโอกาสที่น้ำจะรั่วเข้าระบบน้ำยาของเครื่องชิลเลอร์ได้ แต่ Condensing unit เป็นแผงคอยล์ระบายความร้อน 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำการซ่อมแซมนอกเหนือจากระบบไฟฟ้า, ตู้ Starter และ Control, สายไฟและสาย Sensor แล้ว ยังต้องเพิ่มการล้างแผงคอยล์ Condensing unit และเปลี่ยนพัดลมมอเตอร์คอนเดนซิ่งด้วยถ้าน้ำท่วมถึงตัวแผง Condensing unit

ข้อควรระวัง : ห้ามทำการจ่ายไฟใดๆ ให้กับเครื่องชิลเลอร์ เพราะอาจจะทำให้อุปกรณ์ รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าช็อตเสียหาย และอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ตู้ Starter และตู้ Control Panel

1. ในส่วนของระบบไฟฟ้า, สายไฟ, ตู้ Starter, ตู้ Control Panel และสาย Sensor
1.1. ตู้ Starter และ ตู้ Control ถ้าน้ำท่วมถึงตู้ Starter และตู้ Control ให้ทำการเปิดตู้และเอาสิ่งสกปรกออกเท่าที่จะทำได้ก่อน และให้เอาสปอตไลต์ส่องห่างๆ หรือเอาพัดลมเป่าเพื่อไล่เอาน้ำออก เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกแห้งติดจนถอดยากและเสียเวลาในการซ่อมต่อไป
หมายเหตุ : อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น Board Control, Transformer, Magnetic Contactor, Power Supply ที่แช่น้ำ แนะนำให้เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพราะน้ำที่ท่วมสกปรกมาก และสิ่งสกปรกเหล่านี้จะแทรกซึมไปทุกส่วนของอุปกรณ์ ซึ่งส่งผลต่อระบบควบคุมเครื่อง และอาจเกิดความเสียหายต่อเครื่องได้
1.2. สาย Sensor ต่างๆ ที่เป็นปลั๊กต่อ ให้ถอดออกเพื่อเอาสิ่งสกปรกออกและปล่อยให้แห้ง ถ้าเป็นรุ่นใหม่ที่มีแผง Board อยู่ที่ตัว Sensor แนะนำให้เปลี่ยนใหม่ด้วย

สาย Sensor

Insulation

2. ส่วน Refrigeration system และ Motor Compressor
จะเห็นได้ว่าสารทำความเย็นและมอเตอร์ของคอมเพรสเซอร์เป็นระบบปิดอยู่แล้ว จึงมีโอกาสรั่วเข้าเฉพาะเครื่องที่เป็น low pressure ตามที่กล่าวถึงข้างต้นเท่านั้น ดังนั้นการดูแลเบื้องต้น คือขอให้ทำความสะอาดด้านนอกตัวเครื่องเพราะอาจมีสิ่งสกปรกติดแน่น และจะทำให้เอาออกยาก

3. Insulation
ถ้าฉนวนหุ้มเครื่องชิลเลอร์เสียหายอันเนื่องมาจากแรงดันน้ำที่ไหลผ่าน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพว่าต้องทำการซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่ แต่ถ้าสภาพยังดีอยู่ก็เพียงทำความสะอาดและเอาลมเป่าให้แห้งก็พอ

4. กรณีเครื่องชิลเลอร์ที่ระบายความร้อนด้วยอากาศจมน้ำ
แผงระบายความร้อนก็จำเป็นต้องทำการล้าง Fin Coil ในเบื้องต้นไปก่อน ถ้ามีปั๊มแรงดันสูงก็ให้ทำความสะอาดไปก่อนเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้เศษสกปรกติดแน่นจนเอาออกยาก ถ้าตรวจสภาพแล้วพบว่าสกปรกมาก แนะนำให้ล้างด้วยสารเคมีโดยผู้ชำนาญงาน เพราะจะไม่ทำลาย Fin coil หรือทำให้ Fin coil ล้ม และถ้าน้ำท่วมถึงมอเตอร์พัดลมคอนเด็นซิ่ง แนะนำให้เปลี่ยนใหม่ เพราะการถอดแบริ่งออกมาเปลี่ยนใหม่อายุการใช้งานจะไม่ยืนยาว และยังไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายอีกด้วย

5. การที่จะทำการเดินเครื่องใหม่ต้องมีขั้นตอน
การตรวจสอบสภาพเครื่องชิลเลอร์และอุปกรณ์ การตรวจสภาพและทำความสะอาด การตรวจสภาพความชื้น และความเป็นฉนวนของขดลวดมอเตอร์ เปลี่ยนอะไหล่จำพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่แช่น้ำ เช่น Control Board, หม้อแปลง ฯลฯ ในกรณีที่เครื่องชิลเลอร์เป็นแบบ low pressure ถ้าจมน้ำถึงตำแหน่งที่อาจมีการรั่วซึมตามที่กล่าวข้างต้น แนะนำให้ทำการถ่ายสารทำความเย็นออก และดึงความชื้นออกจากระบบ เปลี่ยนถ่ายน้ำมัน รวมถึง Oil filter และ Drier ใหม่

แหล่งที่มาข้อมูลและภาพ : บริษัท แอร์โค จำกัด
เรียบเรียงโดย นายชูชาติ อังคะปัญญาเดช
ผู้จัดการแผนก Training และ Technical Support เทรน (ประเทศไทย)

• ท่านสามารถดูรายละเอียดเครื่อง Chiller ของ TRANE รุ่นอื่นๆ เพิ่มเติมได้ตามนี้

ข้อแนะนำการแก้ไขเครื่องชิลเลอร์หลังน้ำท่วม
error: Content is protected !!